ตราเครื่องหมาย
เกี่ยวกับสภาเกษตรกร
ความหมายของตราสัญลักษณ์
แนวคิด
พระพิรุณทรงนาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเกษตรกรรมบนผืนแผ่นดินไทย คชสีห์ ราชสีห์เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีที่ปกป้องคุ้มครองชาติไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติมีบทบาทในการปกป้องคุ้มครองเกษตรกรรมของไทย จึงนำสัญลักษณ์ทั้งสองร่วมกันสื่อความหมายภายในวงกลมด้วยสีเขียวและสีทอง
พระพิรุณทรงนาค
พระพิรุณเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำและทะเล ผู้บันดาลให้ฝนตกสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แกับแผ่นดินสำหรับทำเกษตรกรรม พญานาคเป็นพาหนะของพระพิรุณที่นำพาความสมบูรณ์ไปทั่วทั้งประเทศ พระพิรุณทรงนาคกำหนดใช้ในสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของเกษตรกรรมอันเป็นบทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกร
ราชสีห์และคชสีห์
ราชสีห์ เดิมเป็นตราของสมุหกลาโหม หมายถึง กำลังทหาร ที่ร่วมกันดูแล รักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ปกป้องคุ้มครองชาติ กำหนดใช้ในสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการสร้างความเข้มแข็ง ความมั่นคง การปกป้อง คุ้มครอง รักษาสิทธิประโยชน์ของเกษตรกร โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติ
คชสีห์ เดิมเป็นตราของสมุหกลาโหม หมายถึง ประชาชน พลเรือน ที่อยู่ร่วมกัน ดูแลกัน มีความสามัคคีกัน ในชาติกำหนดใช้ในสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีบทบาทในการสร้างให้ประชาชนไทย เกษตรกรไทย ร่วมมือรวมกลุ่มอย่างสามัคคีกันกำหนดนโยบาย วางแผนพัฒนาเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ ติดตามตรวจสอบเพื่อให้รัฐรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพิ่มศักยภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
ความหมายแต่ละสีของสัญลักษณ์
สีเขียวทอง
สีทอง หมายถึง ความเจริญ รุ่งเรือง ความมีอำนาจ กำหนดใช้สีในสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการก่อตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืนให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
สีเขียว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความสุข กำหนดใช้สีในสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงบทบาทหน้าที่ของสภาเกษตรกรแห่งชาติในการส่งเสริมการรวมกลุ่ม การร่วมมือกัน สร้างความอุดมสมบูรณ์ ความสุข ของเกษตรกร